วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2551

โรคปวดหลังป้องกันได้อย่างไร

โรคปวดหลังป้องกันได้ไม่ยากBack pain โรคปวดหลังพบได้บ่อยรองจากโรคปวดหัว เมื่อคุณอายุมากอาจ จะต้อง เผชิญกับโรคนี้ "คิดป้องกันตอนนี้จะได้ไม่เป็นโรคปวดหลัง" สาเหตุของการปวดหลังนั้นมีมากมาย ขึ้นกับอายุของผู้ป่วย ในวัยหนุ่มสาวหรือกลางคนส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากการอักเสบของเอ็น และกล้ามเนื้อบริเวณสันหลัง อาจเกิดจากการจัดท่าทางของร่างกายไม่ถูกต้อง เช่น นั่งหลังงอ, เดินหลังโก่ง หรือยกของหนักผิดวิธี ฯลฯ การรักษาจึงเป็นเพียงการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ แก้ปวด การจัดท่าทางให้ถูกต้องและการบริหารกล้ามเนื้อเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ก็จะเพียงพอยังมีสาเหตุของการปวดหลังในวัยหนุ่มสาว และกลางคนที่พบได้ไม่น้อยเลยคือ หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทขา ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดตะโพก ส่วนใหญ่จะร้าวลงขา มีบางรายอาจจะไม่ร้าวลงถึงต้นขา แต่อาการปวดจะยังคงอยู่แค่บริเวณตะโพกและหลังเท่านั้น ในรายเช่นนี้ อาการปวดมักจะเป็นมากขึ้น เมื่อก้มหรือ ไอ , จาม และดีขึ้นเมื่อได้นอนราบส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่มีอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนี้ สามารถวินิจฉัยได้จากการซักถามประวัติและตรวจร่างกาย, มีการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาและการทำกายภาพบำบัดค่อนข้างดี มีบางส่วนเท่านั้นที่อาการไม่ดีขึ้น ซึ่งต้องได้รับการยืนยันการวินิจฉัยโรค ด้วยการเอ็กซเรย์พิเศษอาจจะเป็นการฉีดสีเข้าบริเวณไขสันหลัง (Myelogram) หรือการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์แม่เหล็ก (MRI) ก็ได้ เมื่อยืนยันการวินิจฉัยได้แล้ว ก็สามารถให้การรักษาในขั้นต่อไปได้ โดยอาจจะเป็นการฉีดยาเข้าบริเวณไขสันหลังหรือการผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกที่ทับเส้นประสาทนั้นออกส่วนในวัยสูงอายุ อาการปวดหลังมักมีสาเหตุจากการเสื่อมสภาพของกระดูกสันหลังเช่นกระดูกสันหลังงอกดทับเส้นประสาท หรือมีการเคลื่อนตัวของข้อกระดูกสันหลังออกจากตำแหน่งเดิม ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติ, ตรวจร่างกาย และเอ็กซเรย์ การรักษาเบื้องต้นก็ยังคงเป็นการรับประทานยา, ใส่เสื้อรัดเอว, ทำกายภาพบำบัดเสียก่อน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นมากขึ้น ก็อาจจะพิจารณาเรื่องการผ่าตัดรักษาสาเหตุอื่นๆส่วนน้อย ที่ทำให้มีอาการปวดหลังได้ ก็คือ ปวดจากการร้าวของอวัยวะของช่องท้อง เช่น นิ่วที่ไต, ตับอ่อนอักเสบ ฯลฯ ซึ่งพบไม่บ่อยนัก จากประวัติอาการปวด, ตรวจ
ร่างกาย, เอ็กซเรย์รวมถึงการตรวจทางห้องทดลอง (เลือด, ปัสสาวะ) ก็สามารถให้การวินิจฉัยได้ถูกต้องพอสมควรอยู่แล้ว


คุณมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร?